Pok – Wannarit Pongprayoon

— Interview

ป๊อก – วรรณฤต พงศ์ประยูร

นักดนตรีอิสระวง “Stylish Nonsense” และ “My Post Life”, เจ้าของค่ายเพลงอิสระ “Panda Records”
อาจารย์พิเศษคณะดุริยางค์ศิลป์. กรุงเทพฯ, ไทย

/

ชื่อ วรรณฤต พงศ์ประยูร ชื่อเล่นชื่อ ป๊อก อายุ 37 ปี ปัจจุบันเป็นนักดนตรีอิสระ และมีค่ายเพลงอิสระชื่อ Panda Records อีกอาชีพคือเป็นอาจารย์พิเศษคณะดุริยางค์ศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรื่องที่สอนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของกระบวนการผลิตงาน และการออกแบบด้านเสียง การใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการผลิตงานดนตรีต่างๆ

ผลงานทางด้านดนตรี

เป็นสมาชิกวง Stylish Nonsense เข้าปีที่ 20 แล้ว ทำกับเพื่อนอีกคนชื่อจูน ลักษณะของวงจะเป็นเพลงบรรเลงด้วยองค์ประกอบของผมกับจูน อีกงานคือเป็นงานเขียน เป็นงานเดี่ยวใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง อีกโปรเจคเดี่ยวของผมมีชื่อว่า My Post Life ที่จะมีเนื้อเพลง และดนตรีประเภท folk ประกอบ
อีกวงมีชื่อว่า The Rocket Science ผมเล่นเบสในวงนี้ เป็นดนตรีแนว alternative grunge rock ยุค90 ผมเป็นคนเขียนเนื้อร้องและทำนอง คาดว่าจะมีอัลบั้มในปีนี้

อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง

สำหรับวง Stylish Nonsense แรงบันดาลใจจะมาจากคุณจูน เพื่อนร่วมวง เพราะเป็นวงประเภททดลอง ถ้าใครทำเสียงอะไรขึ้นมาเราจะต้องตอบสนองต่อเสียงนั้น เป็นทั้งทำนองดนตรี ซาวด์ หรือจะเป็น performance อะไรที่ประหลาดๆออกมา อย่างบางทีไม่มีเสียงแต่มีท่าทางอะไรแบบนี้ ก็เป็นเหมือน happening อย่างนึง แรงบันดาลใจอาจจะต้องเกิดจากสถานการณ์ตอนนั้นด้วย
ส่วนเนื้อเพลงของโปรเจค My Post Life ผมเขียนเนื้อร้องมาจากประสบการณ์ชีวิต มาทำโปรเจคนี้ในตอนที่เราอยู่ในวัยที่เริ่มมีความรู้สึกสะสมในใจพอสมควร ก็จะนำมาแต่งเพลง อย่างเมื่อคืนเพิ่งเขียนเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือ เพราะบางทีการอ่านหนังสือก็ทำให้เรารู้สึกสงสัย และตั้งคำถาม ผมว่าหนังสือก็เป็นแรงบันดาลใจที่ดี นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นเรื่องราวของคนรอบข้าง เพื่อน และบ้านเมือง

มุมมองเกี่ยวกับวงการเพลงไทยในตอนนี้

ผมคิดว่ากว้างขึ้น ด้วยความที่เราอยู่ตรงนี้มานานพอสมควร จะเห็นได้ว่าช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมานี้มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวงการดนตรีมากขึ้น ยกตัวอย่างให้เห็นเลยก็จะมีวงดนตรีใหม่ๆ ที่ผลิตงานออกมาเอง จัดงานแสดงเอง ติดต่อกับแฟนเพลงเอง ผมเริ่มเห็นรูปแบบงานแบบอิสระมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนอันนี้จะเป็นวัฒนธรรมต่างชาติ แต่ตอนนี้เริ่มเห็นในเมืองไทย โดยก่อนหน้านี้กิจกรรมเหล่านี้จะต้องขึ้นกับองค์กร หรือค่ายเพลงใหญ่ๆเท่านั้น ก็คิดว่าภาพรวมของวงการเพลงไทยดูคึกคักขึ้น ก็เหลือที่ผู้ฟังเพราะว่ายังเป็นกลุ่มน้อย ผมว่าน่าจะเป็นใน คนรุ่นถัดไปที่จะมีคนหันมาเสพย์งานดนตรีด้านนี้มากขึ้น

ยกตัวอย่างวงดนตรี 3 วง ที่มีอิทธิพลต่อวงการเพลงแนวทางเลือกในไทยมากที่สุด

Yellow Fang – เป็นวงดนตรีอิสระที่ไม่มีค่ายเพลง เค้ามีอิสระในการทำเพลงที่ดูเหมือนทั้งจริงจัง และไม่จริงจัง ผมหมายความว่ายังมีความเป็นตัวของตัวเอง และไม่ต้องเข้าไปลึกถึงธุรกิจดนตรี ผมว่าเป็นวงที่มีความน่าสนใจเยอะ และสร้างปรากฏการณ์ในวงการดนตรีเหมือนกัน

Aire – ถือเป็นตัวอย่างของวงดนตรีที่ไม่ใช่เด็กไทย หมายถึงว่าเค้าไม่ได้อยู่ในแวดวงของคนไทยอย่างพวกเรา ในวงจะมีสมาชิกเป็นคนญี่ปุ่นสองคน ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นหนึ่งคน และคนไทยที่จบจากโรงเรียนนานาชาติอีกสองคน ผมว่าวงไอเร่น่าจับตาตรงที่เค้าทำเพลงโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกระแส เศรษฐกิจ ความนิยม หรือแฟชั่นอะไร แต่อาศัยว่าวงดนตรีจะมีความแน่วแน่ขนาดไหน คือมันจะทำจริงรึปล่าว ถ้าทำดนตรีตามแฟชั่น พอหมดแฟชั่นมันก็จะหายไป ไอเร่เป็นตัวอย่างของวงที่อยู่ได้ด้วยฝีมือจริงๆ โดยไม่ได้สนใจว่าจะดังหรือไม่ก็ตาม

Desktop Error – วงนี้น่าจะเป็นต้นแบบของวงอินดี้ไทยที่พัฒนามาได้ด้วยตัวเอง คือเค้าเริ่มมาจากการเล่น house band ตามผับที่ต้องเล่นเพลง cover และใช้เวลานานกว่าจะมีอัลบั้ม กว่าจะมีแฟนเพลง พอมีแฟนเพลงแล้วก็ยังใช้เวลาต่อไปที่จะต้องพัฒนาวง จนพิสูจน์ว่าเค้าเป็นวงที่มีฝีมือ และมีพัฒนาการอย่างมาก

Style การแต่งตัวที่ชอบ

ผมชอบเสื้อผ้าที่มีสีสันเพราะว่าเป็นคนขี้เบื่อ ไม่ชอบอะไรซ้ำๆ ผมแต่งตัวตามสไตล์ที่ตัวเองชอบและถนัด นานๆ ทีถึงจะไปช้อปปิ้งบ้างถ้ามีเวลานอกเหนือจากเวลางาน

ส่วนใหญ่ในวันหยุดชอบทำอะไร

วันหยุดก็จะพาลูกๆ ไปเที่ยว หากิจกรรมแบบครอบครัวทำกัน บางทีก็จะไปแถวชานเมือง ไปปั้นดิน และจะชวนเพื่อนๆ ที่มีลูกวัยใกล้เคียงกันไปทำกิจกรรมร่วมกัน ถ้าไม่มีงานดนตรีก็จะทำแบบนี้ ถ้ามีงานดนตรีก็จะต้องไปดูดนตรี

บริหารเวลายังไงในการเป็นทั้งศิลปิน อาจารย์ และหัวหน้าครอบครัว

ผมนอนไม่ค่อยพอเท่าไหร่ นอนดึก ต้องตื่นเช้าไปส่งลูก กลางคืนถึงจะได้ทำงานของตัวเอง ดนตรีเป็นเหมือนงานอดิเรกไม่ได้ทำเพื่อเลี้ยงชีพ ผมโชคดีตรงที่ว่าผมเป็นอาจารย์พิเศษและไม่ต้องไปสอนทุกวัน เลยพอมีเวลาทำอย่างอื่น การเป็นอาจารย์ก็ช่วยให้เราได้แลกเปลี่ยนกับคนรุ่นใหม่ และได้ฝึกวุฒิภาวะแบบอาจารย์ มันต้องมีการใช้จิตวิทยา ความอดทน ผมว่าการสอนคนก็เหมือนการสอนตัวเอง คือได้รู้ว่าเราจะต้องอดทนเมื่อไหร่ หรือจะต้องรับฟังเมื่อไหร่ หรือเมื่อไหร่ที่จะต้องบอกกล่าว มันเป็นการบริหารอารมณ์ที่ดี

การดูแล Panda Records เป็นยังไงบ้าง

Panda Records เป็นเหมือนอีกครอบครัวหนึ่ง คนที่ร่วมงานด้วยส่วนใหญ่เป็นรุ่นน้อง หรือนักศึกษา ก็ยังมีจุดที่เราต้องสอนเค้า หรือคอยบอกเพื่อให้เค้ามีความรับผิดชอบและจะต้องสามารถดูแลตัวเองได้ ส่วนงานที่เป็นของค่ายมันก็ไม่มีอะไรมาก การทำเพลง ก็ทำมาขายไป หรือไปแสดงดนตรี ค่ายนี้ผมทำมา 14 ปีแล้ว ผมให้อิสระกับศิลปินในค่าย เหมือน freelance วันนึงเค้าอาจจะเปลี่ยนใจได้ ถ้าวันนึงอาจจะทำแล้วมันลำบากก็จะชะลอให้ช้าลง มันก็อยู่ที่เค้าว่าจะทำยังไง แต่สำหรับตัวผมเอง ผมอยู่ตรงนี้มานานแล้ว มันอาจจะผ่านช่วงเวลาที่ลำบากของชีวิตมาแล้วจนรู้สึกว่าสามารถทำต่อไปได้โดยที่ไม่ต้องกดดัน ขอแค่ให้ผมได้เล่นดนตรี คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าผมทำหลายอย่าง แต่การทำงานหลายอย่างทำให้ผมรู้สึกเติมเต็ม

DOUBLE MONK STRAP
available in Tan and Burgundy